คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เริ่มเปิดการเรียนการสอนรายวิชาภาษาสเปนเป็นครั้งแรกที่โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในปีพ.ศ. 2550 โดยภาษาสเปนเป็นหนึ่งในภาษาที่นักศึกษาสามารถเลือกเรียนได้ และนักศึกษาจะต้องเรียนต่อเนื่องจนครบ 6 รายวิชา ต่อมาในปีพ.ศ. 2551 ได้เริ่มเปิดการเรียนการสอนภาษาสเปนเป็นวิชาเลือกเสรีให้กับนักศึกษาภาคปกติ โดยมีรายวิชาภาษาสเปนทั้งหมด 6 รายวิชา และในปีพ.ศ. 2552 ได้เปิดหลักสูตรวิชาโทสาขาวิชาสเปนและลาตินอเมริกันศึกษาอย่างเป็นทางการ
นับตั้งแต่เปิดหลักสูตรวิชาโทสาขาวิชาสเปนและลาตินอเมริกันศึกษาเป็นต้นมา หลักสูตรวิชาโทประสบความสำเร็จอย่างงดงาม อัตราการขยายตัวของจำนวนอาจารย์ผู้สอนเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด เมื่อเริ่มเปิดหลักสูตรวิชาโทในปีการศึกษา 2552 หลักสูตรมีอาจารย์ผู้สอนเพียง 2 คนเท่านั้น ปัจจุบันมีอาจารย์ทั้งหมด 9 คน เป็นอาจารย์ไทย 7 คนและอาจารย์ชาวต่างประเทศอีก 2 คน นอกจากนี้ สถิติจำนวนผู้เรียนก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้เรียนในภาคปกติมาจากคณะศิลปศาสตร์มากที่สุด และยังมีนักศึกษาคณะอื่นๆ โดยเฉพาะคณะรัฐศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน คณะสังคมวิทยา คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ คณาจารย์ในสาขาวิชาโทยังสอนภาษาสเปนให้กับโครงการอบรมภาษาต่างประเทศสำหรับบุคคลทั่วไป (ทั้งท่าพระจันทร์และรังสิต) อีกด้วย
ช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานักศึกษาจบหลักสูตรวิชาโทและสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปทำงานในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสเปนและลาตินอเมริกันศึกษาดังต่อไปนี้ สถานทูตอาร์เจนตินา, สถานทูตโคลอมเบีย, สถานทูตชิลี, สถานทูตสเปน, องค์การสหประชาชาติ, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, สำนักข่าว The Standard, บริษัท Asian Spirit, บริษัท Gulliver Travel Associates, บริษัท Travex, บริษัท Bombardier Transportation Signal (Thailand) เป็นต้น
ในปีการศึกษา 2563 คณะศิลปศาสตร์จะเปิดหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสเปนและลาตินอเมริกันศึกษา และรับนักศึกษาจำนวน 25 คน การออกแบบหลักสูตรวิชาเอกอยู่ภายใต้กรอบความคิดของสหสาขาวิชาที่มุ่งเน้นการบูรณาการทักษะการใช้ภาษาสเปนควบคู่ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ วรรณคดี และวัฒนธรรมของประเทศสเปน ประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา และประเทศฟิลิปปินส์ การบูรณาการดังกล่าวจะสร้างผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถทางวิชาการและสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงในโลกของการทำงาน
ในส่วนของภาษาสเปน หลักสูตรมุ่งพัฒนาทักษะภาษาทางด้านการฟัง พูด อ่าน และเขียน พร้อมทั้งสอดแทรกความรู้ความเข้าใจทางด้านวัฒนธรรมเพื่อให้เรียนรู้ได้อย่างลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการพัฒนาทักษะการสื่อสารแล้ว หลักสูตรเปิดการเรียนการสอนภาษาสเปนเฉพาะทางเพื่อสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น ภาษาสเปนเพื่อธุรกิจ การโรงแรม การท่องเที่ยว การแพทย์ เป็นต้น เนื้อหาของรายวิชาภาษาสเปนอ้างอิงตามกรอบมาตรฐานความสามารถทางภาษาของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (Common European Framework of References for Languages / CEFR) เมื่อจบหลักสูตร ผู้เรียนจะมีทักษะภาษาสเปนในระดับ B2 (หรือระดับที่ 4 จากทั้งหมด 6 ระดับ)
ในส่วนของความรู้ทางด้านเนื้อหา รายวิชาต่าง ๆ มุ่งทำความเข้าใจสเปน ลาตินอเมริกา และฟิลิปปินส์ในมุมมองที่แตกต่างหลากหลายและรอบด้าน หลักสูตรดำเนินการเรียนการสอนรายวิชาส่วนเนื้อหาเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้อย่างแท้จริงและลึกซึ้ง องค์ความรู้เหล่านี้แทบจะไม่มีมหาวิทยาลัยใดในประเทศไทยเปิดสอน ผู้เรียนจะเป็นผู้ที่ทันโลก เข้าใจเหตุการณ์ รวมทั้งสามารถคิด วิเคราะห์ และเชื่อมโยงบริบทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้เข้าด้วยกัน ความรู้ทางด้านเนื้อหาจะส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้ทักษะทางภาษาได้มีประสิทธิภาพและโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมาสาขาวิชาจัดโครงการเรียนภาษาและวัฒนธรรมสเปนภาคฤดูร้อนเป็นระยะเวลา 2 เดือนที่มหาวิทยาลัยเนบริฆา (Nebrija University) ประเทศสเปน นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการได้ฝึกภาษาสเปนในสถานการณ์จริงและสามารถเทียบโอนผลการเรียนกับรายวิชาในหลักสูตรได้ นอกเหนือจากการสร้างเสริมประสบการณ์ในต่างประเทศแล้ว สาขาวิชายังมุ่งพัฒนาทักษะด้านการประกอบอาชีพ สาขาวิชามีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนที่ใช้ภาษาสเปนในการทำงาน และดำเนินการส่งนักศึกษาไปฝึกงานในภาคฤดูร้อน ทั้งนี้เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำความรู้ในชั้นเรียนไปประยุกต์ใช้กับโลกของการทำงาน หน่วยงานที่เคยส่งนักศึกษาไปฝึกงานมีดังต่อไปนี้ สถานทูตสเปน, สถานทูตชิลี, สถานทูตเม็กซิโก, สถานทูตอาร์เจนตินา, สถานทูตโคลอมเบีย, บริษัทเอเชียน สปิริต จำกัด, บริษัท Indra และสำนักข่าว EFE
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นตลาดวิชา เพื่อการศึกษาด้านกฎหมายและการเมือง สำหรับประชาชนทั่วไป โดยใช้ชื่อในขณะนั้นว่า “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย และมีประวัติศาสตร์ผูกพันกับพัฒนาการทางการเมืองและความเป็นไปของชาติ ตลอดจนเรื่องของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต)
99 หมู่ 18 ถนนพหลโยธิน
ตำบลคคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง
จังหวัดปทุมธานี 12121
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
2 ถนนพระจันทร์ เขตพระนคร กทม.10200
โทรศัพท์: 0-2613-2646
Fax: 0-2222-0869